No Products in the Cart
พลาสติก PET เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลสูงสุด เนื่องจากขวดพลาสติก PET สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และนำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ในหลายรูปแบบ รวมทั้งมีมูลค่าการรับซื้อสูง แต่ทุกวันนี้ที่ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้ เพราะยังติดเรื่องกฎหมาย ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”
กฎหมายข้อนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเทคโนโลยีในเวลานั้นยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าพลาสติกที่นำมารีไซเคิลจะสะอาดเพียงพอนำกลับมาใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่หรือไม่ อีกทั้งเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะปกป้องและคุ้มครองสุขอนามัยของคนในประเทศ
แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกก้าวรุดหน้าไปกว่าเดิมมาก อีกทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี หรือญี่ปุ่น ต่างก็สนับสนุนนโยบายที่สอดรับกับกระบวนการ 3Rs คือ ลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่(Recycle) อย่างที่รู้กันดีว่า กระบวนการกำจัดพลาสติกต้องอาศัยเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากรมหาศาล ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาวต่อโลกที่นับวันก็ยิ่งทรุดโทรม
เมื่อปี 2560 ประเทศไทยผลิตขวดพลาสติกเพ็ทออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนขวดพลาสติกที่เหลือเกือบ 1 แสนตัน ต้องถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดรอดออกสู่ท้องทะเล
หลายคนคงไม่รู้ว่าวัสดุ PET เป็นหนึ่งในวัสดุชั้นนำที่มนุษย์นิยมนำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำดื่ม (ขวด PET) หรือกล่องในรูปทรงต่างๆ และมีลักษณะใส PET จึงเป็นพลาสติกที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ เนื่องจากนำกลับมาผลิตใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภท นอกเหนือจากพรีฟอร์ม (ขวดก่อนเป่าขึ้นรูป) สำหรับฝาพลาสติก HDPE ยังนำมารีไซเคิลได้เช่นกัน
พลาสติก PET ถูกนำมารีไซเคิล จะกลายเป็นอะไรได้บ้าง?
เมื่อนำพลาสติกมารีไซเคิลสามารถแปรสภาพไปเป็นใยสังเคราะห์สำหรับผลิตเสื้อผ้า แผ่นกรอง สายรัด บรรจุภัณฑ์ ผ้าบุแต่งเฟอร์นิเจอร์และพรม เพื่อการอุปโภค ส่วนการบริโภคสามารถนำมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ซึ่งผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่หลายรายในปัจจุบันใช้ขวดที่ผลิตจากเม็ด PET รีไซเคิล และบางรายใช้เม็ด PET รีไซเคิลสูงถึง 100%
พลาสติกรีไซเคิลช่วยประหยัดพลังงานอย่างไร? พลาสติกต่างๆ นั้นทำมาจากน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป การรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน สามารถช่วยประหยัดน้ำมันได้มากถึง 3.8 บาร์เรล (เท่ากับ 159.11 ลิตร) และยังช่วยประหยัดพื้นที่ในการฝังกลบลบขยะได้มากถึง 5.7 ลูกบาศก์เมตร ขยะทุกชิ้นที่จัดการอย่างถูกต้องจะช่วยฟื้นฟูโลกสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ยั่งยืน
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : unionjplus
สนใจสั่งซื้อสินค้า หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่นี้ >>> www.packingdd.com
ติดตามข่าวสาร หรือ โปรโมชั่นเพิ่มเติมที่นี้ Facebook : PackingDD